วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

บทที่13 แนวโน้มทางการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

บทที่13

แนวโน้มทางการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)

การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมายถึง การกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์และการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุนทรียภาพแก่สมาชิกของสังคมในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ทรัพยากรอันทรงคุณค่าอย่างชาญฉลาด สามารถรักษาเอกลักษณ์ของธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้นานที่สุด เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป

แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

สามารถพิจารณาได้จากองค์ประกอบ 4 ประการคือ

- การดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวในขอบเขตของความสามารถของธรรมชาติชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว

- การตระหนักในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่อชุมชนขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน

- การมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีต่อการท่องเที่ยว

- การประสานความต้องการทางเศรษฐกิจ การคงอยู่ของสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ควรคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ประการ

- เป็นการจัดการท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศนั้นๆ

- เป็นการจัดการการท่องเที่ยวที่สร้างความรู้และให้ความรู้

- เป็นการจัดการการท่องเที่ยวที่ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาท มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ร่วมจัดทำและร่วมได้รับผลประโยชน์อย่างเสมอภาค

ความสำคัญของการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

- เพื่อให้การใช้ทรัพยากรท่องเที่ยวเป็นไปอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด

- เพื่อรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

- เพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับทรัพยากรท่องเที่ยวทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

หลักการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

- อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างพอดี (Using Resource Sustainable)

- ลดการบริโภคและใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็นและลดการก่อของเสีย (Reducing Over-Consumption and Waste)

- รักษาและส่งเสริมความหลากหลายของธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม (MaintainDiversity)

- การประสานการพัฒนาการท่องเที่ยว (Integrating Tourism into Planning)

- ต้องการนำการท่องเที่ยวขยายฐานเศรษฐกิจในท้องถิ่น (Supporting Local)

- การมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวกับท้องถิ่น(Involving Local Communities)

- ประชุมปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน (Consulting Stakeholders and the Public)

- การพัฒนาบุคลากร (Training Staff)

- จัดเตรียมข้อมูลคู่มือบริการข่าวสารการท่องเที่ยวให้พร้อม( MarketingTourism Responsibly)

- ประเมินผล ตรวจสอบและวิจัย (Undertaking Research)

ขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying capacity)

หมายถึง ปริมาณการใช้ประโยชน์พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่พื้นที่นั้นสามารถจะแบกรับไว้ได้ ก่อนที่จะเกิดความเสื่อมโทรมขึ้นกับพื้นที่นั้นๆ

ดังนั้นขีดความสามารถในการรองรับของทรัพยากรท่องเที่ยวจึงวัดได้ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวสูงสุดที่สามารถอยู่ได้ในทุกเวลา ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหนึ่งๆ ในปริมาณที่จะทำให้สภาพแวดล้อมถูกทำลายน้อยที่สุด ยังคงรักษาสภาพความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีไว้มากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวมีความพอใจและได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสม รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในท้องถิ่นด้วย

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Tourism)

สมาคมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ( The International Ecotourism Society)ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศว่า

Eco Tourism: Responsible Travel tonatural areas that conserves the environment and improves the well-being oflocal people

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ให้คำนิยามว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Tourism) หมายถึง การท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวนิเวศประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 6 ประการ

เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ

มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบ

มีการจัดการด้านการให้ความรู้

มีความรับผิดชอบโดยผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว

เป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลินและประทับใจ

กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้นมีอยู่หลายแบบ สามารถแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

กิจกรรมหลัก 10 ประเภท ได้แก่

1. กิจกรรมการเดินป่า (Hiking/ Trekking)

2. กิจกรรมศึกษาธรรมชาติ (Nature Education)

3. กิจกรรมถ่ายรูปธรรมชาติ บันทึกเทปวิดีโอ เทปเสียงธรรมชาติ (Nature Photography, Video Tapping And Sound of Nature Audio Taping)

4. กิจกรรมส่อง/ ดูนก (Bird Watching)

5. กิจกรรมศึกษา/ เที่ยวถ้ำ (Cave Exploring/ Visiting)

6. กิจกรรมศึกษาท้องฟ้าและดาราศาสตร์ (Sky Interpretation)

7. กิจกรรมล่องเรือศึกษาธรรมชาติ (Boat Sightseeing)

8. กิจกรรมพายเรือแคนู/ เรือคายัค/ เรือบด/ เรือใบ (Canoeing/Kayak/ Browbeating)/ Sailing)

9. กิจกรรมดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น (Snorkel Skin Diving)

10. กิจกรรมดำน้ำลึก (Scuba Diving)

กิจกรรมเสริม 9 ประเภท ได้แก่

1. กิจกรรมชมทิวทัศน์ธรรมชาติในบรรยากาศที่สงบ (Relaxing)

2. กิจกรรมขี่จักรยานตามเส้นทางธรรมชาติ (Terrain/ Mountain Biking)

3. กิจกรรมปีน/ ไต่เขา (Rock/ Mountain Climbing)

4. กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ (Tent Camping)

5. กิจกรรมเครื่องร่อนขนาดเล็ก (Hang Glider)

6. กิจกรรมล่องแพยาง/ แพไม้ไผ่ (White Water Rafting)

7. กิจกรรมพักผ่อนรับประทานอาหาร (Picnicking)

8. กิจกรรมเที่ยวน้ำตก (Waterfall Visits/ Exploring)

9. กิจกรรมวินด์เซิร์ฟ (Windsurfing)

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro tourism)

เป็นการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการเกษตรเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวหลัก สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว มีการจัดระบบการให้บริการไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งมีการวางแผนป้องกันและวางแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

ลักษณะสำคัญ

- เป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งความสนใจไปยังกิจกรรมการเกษตรหรือสภาพแวดล้อมทางการเกษตรเป็นหลัก

- เป็นการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์ทางการเกษตรเป็นหลัก

- เป็นการท่องเที่ยวที่มีการจัดระบบการให้บริการไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน

- เป็นการท่องเที่ยวที่มีกลไกกระจายรายได้ไปยังเกษตรกร

- เป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรในด้านของกระบวนการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

- เป็นการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจต่อการได้รับความรู้ ความเพลิดเพลิน เกิดการพักผ่อนหย่อนใจ การสร้างเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติของท้องถิ่น

ประเภทของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

การกสิกรรม หมายถึงการประกอบพืชไร่ พืชสวน

การประมง ได้แก่ กิจกรรมการเพาะเลี้ยงและการจับสัตว์น้ำ

การปศุสัตว์

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism)

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหมายถึง การท่องเที่ยวเพื่อบำบัดโรคหรือบำรุงสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นการรักษาโรค การฟื้นฟูสุขภาพและการรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น

ประเภทของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

1. การท่องเที่ยวเพื่อรักษาโรคของนักท่องเที่ยว

2. การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของนักท่องเที่ยว

3. การท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพของนักท่องเที่ยวให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น